ความลึกลับของปราสาทหิน | the miracle of stone palace


ความลึกลับของปราสาทหิน

แสดงความเห็นโดย Kru nawaporn บน กรกฎาคม 3, 2009
หากไม่เคยผ่านหูเกี่ยวกับความรุ่งเรืองของราชอาณาจักรขอม ไม่สนใจรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ทั้งไม่หลงใหลความลึกลับหลังกำแพงหิน ก็ยากที่จะเที่ยวชม “ปราสาทหิน” ให้สนุกได้ เพราะจะพบแต่ อิฐ หิน ศิลาเก่าๆ ก่อตัวเป็นชั้นๆ ไร้สีสัน และภาพสลักที่ดูไม่เข้าใจ แต่ถ้าลบคำว่าไม่ที่กล่าวมาออกได้ทั้งหมด แล้วจินตนาการไปในระหว่างการเดินชม เราอาจจะได้พบเรื่องราวที่มีชีวิตจากซากอิฐที่แห้งแล้ง หรือเกิดความศรัทธายามพินิจภาพจำหลักเหนือชั้นหินศิลาแลง
clip_image001ปราสาทหิน เป็นสัญลักษณ์ของอดีตอันรุ่งเรืองแห่งราชอาณาจักรขอมที่หลงเหลือให้เราเห็นทุกวันนี้ และนี่คือสิ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม วันหนึ่งก็ย่อมล่มสลายไป สำหรับในดินแดนประเทศไทย บริเวณอีสานตอนล่าง อันเป็นพื้นที่ระหว่างแม่น้ำมูลกับทิวเขาดงรักที่ทอดยาวกั้นเขตแดนไทย-กัมพูชานั้น นับเป็นเส้นทางวัฒนธรรมขอมที่แผ่เข้ามามากที่สุด ปราสาทหินน้อยใหญ่ตั้งเรียงรายในแถบนี้ คือร่องรอยแห่งความสัมพันธ์ของผู้คนสองฟากเขาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12
ทำไมขอมจึงนิยมสร้างปราสาทหิน
กษัตริย์ขอมพระประสงค์ให้สร้างปราสาทหินเพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้าตามลัทธิเทวราชา ซึ่งตามลัทธินี้เชื่อว่า กษัตริย์เป็นอวตารภาคหนึ่งของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู (พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม) โดยเฉพาะลัทธิไศวนิกายที่มีศิวลึงค์เป็นสัญลักษณ์ อย่างไรก็ตามเมื่อพุทธศาสนานิกายมหายานมีอิทธิต่อราชอาณาจักรขอม รูปเคารพก็จะเปลี่ยนเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแทนรูปเทพเจ้าในศาสนาฮินดู แต่รูปแบบการสร้างปราสาทหินก็ยังคงอยู่ ปราสาทหินจึงเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา ก่อเกิดชุมชนรอบศาสนสถาน จนพัฒนากลายเป็นชุมชนระดับเมือง มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการสร้างบารายหรือสระน้ำซึ่งเป็นระบบการกักเก็บน้ำ ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก อันเป็นวัฒนธรรมการตั้งชุมชนของขอมที่นิยมมากในช่วงศตวรรษที่ 15 และ 18
ประเภทของปราสาทหิน
1. ปราสาทหินที่เป็นศาสนสถานหรือเทวาลัย มักจะเป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม
2. อโรคยาศาลหรือกุฎีฤาษี เป็นสุขศาลาหรือที่รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในชุมชน สังเกตความแตกต่างได้ตรงที่ ภายในประดิษฐาน “พระไภษชยคุรุไวฑูรยประภา” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีหม้อน้ำมนต์ในพระหัตถ์ ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้รักษา
3. ธรรมศาลา หรือที่พักมีไฟ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง มีให้เห็นเรียงรายตามเส้นทางจากเมืองพระนคร (ในเขตกัมพูชา) มายังปราสาทหินพิมาย ทั้งธรรมศาสาและอโรคยศาลมักมีลักษณะเป็นอาคารหลังเดียว อาจมีบารายขนาดเล็กอยู่ใกล้ๆ ด้วย
ลักษณะทั่วไปของปราสาทหิน
โบราณสถานขอมส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลงเป็นส่วนฐาน และหินทรายในส่วนอาคารหรือส่วนที่ต้องการจำหลักลวดลาย เพราะมีเนื้อหินที่อ่อนแกะสลักได้ง่าย แต่โบราณสถานบางแห่งอาจก่อขึ้นด้วยอิฐ ปราสาทหินส่วนใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เว้นแต่ปราสาทหินพิมายและปราสาทตาเมือนธมที่หันไปทางทิศใต้เพื่อหันรับถนนโบราณที่มาจากเมืองพระนครในกัมพูชา ส่วนปราสาทพระวิหารหันหน้าไปทางทิศเหนือตามลักษณะพื้นที่ภูเขา
แผนผังปราสาทหินทั่วไปประกอบด้วย 
1. ปราสาทประธาน ซึ่งประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ ปราสาทหินบางแห่งอย่างที่ปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินพิมายจะมีห้องยาวต่อออกมาทางด้านหน้า เรียกว่า ห้องมณฑป
2. ปราสาทบริวาร เป็นปราสาทขนาดรองลงมาจากปราสาทประธาน หรืออยู่ข้างๆ ปราสาทประธาน
3. บรรณาลัย เป็นที่เก็บคัมภีร์ มักก่อด้วยศิลาแลงเป็นหลัก
4. ระเบียงคด อยู่ล้อมรอบองค์ปราสาทและบรรณาลัย มีลักษณะเป็นแนวกำแพงที่มีผนังสองชั้น ก่อเป็นห้องยาว ตรงกึ่งกลางของระเบียงคดแต่ละด้านมักจะทำเป็นช่องประตู มีลักษณะเป็นซุ้มเรียกว่า โคปุระ มีภาพจำหลักตรงหน้าบันและทับหลังประดับอยู่เสมอ
clip_image002สิ่งที่ควรชมในการเที่ยวชมปราสาทหิน
ปราสาทประธานมักตกแต่งด้วยลวดลายที่จำหลักบนเนื้อหินหรือลายปูนปั้น ซึ่งมักจะบอกให้รู้ว่า สร้างในลัทธิศาสนาใด โดยดูจากหน้าบันหรือทับหลังของห้องปราสาทประธานที่ประดิษฐานรูปเคารพสูงสุด ภาพจำหลักตามหน้าบัน ทับหลัง มักเป็นภาพเรื่องราวดังนี้
ภาพเทพเจ้า ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ซึ่งมักนิยมจำหลักภาพตอนสำคัญ เช่น
1. ศิวนาฎราช คือ การร่ายรำ 108 ท่าของพระอิศวร หมายถึง การทำลายและการสร้างโลกของมนุษย์
2. นารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นภาพพระนารายณ์บรรทมเหนือพญาอนันตราชในมหาสมุทร มีพระลักษมีประทับนั่งอยู่ปลายพระบาท กลางพระนาภีมีดอกบัวผุดขึ้นมา ภายในคือพระพรหม ซึ่งหมายถึงการสร้างโลกใหม่
3. อุมามเหศวร เป็นภาพพระอิศวรและพระอุมาประทับนั่งเหนือโคนนทิ ซึ่งเป็นพาหนะประจำองค์
4. พระกฤษณะปราบนาคกาลียะ พระกฤษณะเป็นอวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ในการลงมาช่วยดับทุกข์เข็ญแก่มนุษย์ มักเป็นภาพพระกฤษณะกำลังแยกลำตัวนาคกาลียะ ซึ่งเป็นนาค เศียร
5. พระกฤษณะโควรรธนะ เป็นตอนพระกฤษณะประลองฤทธิ์กับพระอินทร์ เป็นภาพพระกฤษณะกำลังยกภูเขาโควรรธนะเพื่อกำบังพายุฝนที่พระอินทร์บันดาลลงมาให้ท่วมเหล่าคนเลี้ยงโค
6. เทพประจำทิศ
7. ภาพหน้ากาลหรือเกียรติมุข ซึ่งเป็นศรีษะยักษ์แยกเขี้ยว มือสองข้างจับลายซึ่งช่างมักทำเป็นภาพจับลายท่อนพวงมาลัย มีความเชื่อว่าตัวหน้ากาลช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ย่างกรายเข้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ภาพทั่วไป คือภาพที่เป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับผู้สร้างปราสาท หรือภาพวิถีชีวิต เช่นภาพฤษีอ่านตำรา
ภาพจากมหากาพย์รามยณะ (การอวตารของพระนารายณ์ลงมาปราบทุกข์เข็ญบนโลก) และมหาภารตะ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องราวการสู้รบเป็นหลัก เช่น ตอนทัพพระรามและพระลักษณ์รบกับทศกัณฐ์ ซึ่งอาจแฝงความหมายของการที่ผู้สร้างปราสาทมีชัยชนะในการรบ
ข้อแนะนำในการเที่ยวชมปราสาทหิน
ให้เริ่มจากทางเข้าหลักของปราสาทหิน เพราะเป็นด้านสำคัญ มักมีการจำหลักภาพสำคัญ อาจบางบอกว่าปราสาทนี้สัมพันธ์กับลัทธิใด เมื่อเดินผ่านซุ้มโคปุระเข้าสู่เขตชั้นในอันเป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน ควรเริ่มเดินชมจากภายนอกก่อน เพราะลวดลายจำหลักส่วนใหญ่อยู่ด้านนอก โดยอาจเดินวนขวา หากมีกล้องส่องทางไกลจะช่วยทำให้เห็นลวดลายได้ชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ขณะเดินชมปราสาทไม่ควรลูบคลำ ขีดเขียน และทำลายลวดลายที่ประดับ รวมทั้งไม่ควรปีนป่ายหรือนั่งบนรูปเคารพ
ที่มา : ไทยแลนด์อีไกด์
ขอบคุณ: Web Guide อักษรเจริญทัศน์ (อจท)