พิธีเปิดงานมหกรรม “ศรีสะเกษเมืองสมุนไพร” วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
ด้วยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมพัฒนา “พืชสมุนไพร” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชน ผ่านแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ระยะ 20 ปี และจังหวัดสรีสะเกษ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อีกทั้งมีความพร้อมด้านลักษณภูมิศาสตร์ ดินปลูกคุณภาพสูง และสารตกค้างในดินอยู่ในระดับต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้พืชที่ปลูกในจังหวัดศรีสะเกษ มีสาระสำคัญสูง รสชาติดี เป็นที่นิยมของท้องตลาด ยกตัวอย่างเช่น กระเทียม หอมแดง และทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษของเรา มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกับขับเคลื่อนการพัฒนาไปพร้อมๆกันทุกภาคส่วน ถือได้ว่าเป็นพลังอันสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้เจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นจังหวัดศรีสะเกษจึงได้กำหนดนโยบายทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการและผนวกเอาการพัฒนา วาระศรีสะเกษเมืองสมุนไพร เป็นประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ ในอนาคตอีกหนึ่งวาระ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อที่รอยยิ้มของชาวศรีสะ จะยืนยาวไปอีกยาวนาน ดังคำกล่าวที่ว่า อะไร อะไร ก็ ดี ที่ ศรีสะเกษ
นายศรีไพร ทองนิมิตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ : สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรคุณภาพ อย่างครบวงจร ในพืชสมุนไพร โดยเฉพาะสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ ๙ ชนิดประกอบด้วย มะขามป้อม ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ไพล ขิง หอมแดง กระเทียม ข่า และพริก ทั้งในส่วนการปลูก การผลิตอย่างมีคุณภาพและสร้างมูลค่า การนำมาใช้ในระบบบริการสุขภาพ และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในภาคเอกชน หรือการตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ยังได้มีการบูรณาการร่วมกับ ศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ เชื่อมโยงการตลาดพืชสมุนไพร ทั้งห่วงโซ่คุณค่า และยกระดับแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน จังหวัดศรีสะเกษ ให้มีอัตลักษณ์อีกด้วย
ในการจัดงาน มหกรรม “ศรีสะเกษเมืองสมุนไพร” ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จากเครือข่ายบุคลากรเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เครือข่ายบุคลากรการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปสมุนไพรจังหวัด ศรีสะเกษ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น ๕๐๐ คน มีระยะเวลาในการจัดงาน มหกรรม “ศรีสะเกษเมืองสมุนไพร” จำนวน ๑ วัน ในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ, ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, พาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ, ประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดศรีสะเกษ, พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ, หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ, บริษัทปัจจัยชีวีจำกัด, บริษัท Demafoods จำกัด วิสาหกิจชุมชนชัยพัฒนาศรีสะเกษ ๘๘๘ วิสาหกิจชุมชนศรีสวยยิ่งแปรรูปหอมแดง และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ และออกร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูป ต่างๆ อีกทั้งยังมีลานแสดงภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและอาหารเป็นยา จากเครือข่ายปราชญ์พื้นบ้านจังหวัดศรีสะเกษ และ มีเวทีเสวนา ในหัวข้อ “ศรีสะเกษเมืองสมุนไพร ทิศทางการพัฒนาเพื่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และครอบครัว” จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมงาน
นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ : ตามที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดนโยบายทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้และมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นโดยมุ่งเน้น ให้มีการขับเคลื่อน ศรีสะเกษเมืองสมุนไพร ซึ่งเป็นวาระที่สำคัญของจังหวัด
จังหวัดศรีสะเกษมีจุดแข็ง คือ มีศักยภาพในการทำการเกษตรที่มีผลิตภาพสูง มีพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นอาชีพหลักแก่ประชาชน มีการส่งเสริมภาคการเกษตร ทำเกษตรกรรมให้ได้มาตรฐาน มีการบูรณาการผ่านรูปแบบภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีความพร้อมด้านปัจจัยการผลิตคือ แหล่งปลูกสมุนไพรคุณภาพ แหล่งผลิตยาสมุนไพรคือโรงงานผลิตยาสมุนไพรโรงพยาบาลห้วยทับทัน มีบริษัทผู้ผลิตอาหาร ยา เครื่องดื่มและเครื่องสำอางจากสมุนไพร อาทิเช่น บริษัทดีมาฟูดส์ บริษัทปัจจัยชีวี เป็นต้น และยังมีวิถีชุมชน ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษและมีศักยภาพ เช่น หมอพื้นบ้าน ซึ่งเป็นตัวแทน ของการแพทย์พื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ดังนั้นจึงถือได้ว่าจังหวัด ศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมในทุกห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนาสู่ จังหวัดเมืองสมุนไพร อีกหนึ่งแห่งของประเทศไทย
นายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ : โครงการศรีสะเกษเมืองสมุนไพรนั้น เริ่มต้นขึ้นจาก นโยบายกระทรวงสาธารณสุข คือการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย เพื่อให้บริการประชาชน ที่มารับบริการในหน่วยบริการทางสาธารณสุขอาทิเช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น และได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากแผนการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมสมุนไพรในระบบสาธารณสุข ปัจจุบัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ มีหน่วยงานรับรองคุณภาพ และควบคุมกำกับ ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ผ่านหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข มีโรงงานผลิตยาสมุนไพร โรงพยาบาลห้วยทับทัน ซึ่งมีโรงงานผลิตยาน้ำสมุนไพรขนาดใหญ่ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล คือ WHO GMP ทำหน้าที่ผลิตยาสมุนไพรบรรจุเสร็จ 30 ตำหรับ มีตำหรับผลิตเด่น คือ ยาน้ำแก้ไอมะขามป้อม เพื่อสนับสนุนสถานบริการในเขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ จังหวัด อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ มีโรงงานผลิตเวชสำอาง โรงพยาบาลเบญจลักษ์ เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา พัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เพื่ออนาคต รวมถึงโรงเรียนการแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลขุนหาญ ผลิตบุคลากรหมอนวดแผนไทยที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของท้องตลาด ทั้งในและต่างประทศ ประกอบกับการส่งเสริมการวิจัย พัฒนานวัตกรรมจากสมุนไพรและการแพทย์พื้นบ้าน อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ใช้สมุนไพรที่ผลิตได้จากพืชสมุนไพร ที่ปลูกจากเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ รายได้หมุนเวียนสู่เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร
ในส่วนกิจกรรมการจัดงานจะมี
- พิธีมอบรางวัล การประกวดภาพเล่าเรื่องเมืองสมุนไพรศรีสะเกษ ประกวดคลิปสั้น และประกวดยอดไลค์ ยอดแชร์
- บูธนิทรรศการให้ความรู้ จากทุกภาคส่วน และแจกต้นกล้าสมุนไพร ฟรี
- บูธจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
- เวทีเสวนา หัวข้อ ศรีสะเกษเมืองสมุนไพร ทิศทางการพัฒนาเพื่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว
- ลานหมอพื้นบ้าน และอาหารเป็นยา
- ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ด้วยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยฟรี
รัตนสุดา จิรารักษ์ ผู้แทนพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ : จังหวัดศรีสะเกษ ของเรา ขึ้นชื่อเรื่อง ทุเรียนภูเขาไฟ กระเทียม GI และ หอมแดง GI ดังนั้นแล้ว ในด้านการพัฒนาต่อยอดการตลาด เพื่อให้เกิดพืชสมุนไพร GI จังหวัดศรีสะเกษ ย่อมเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่มีความท้าทาย ในการดำเนินการตลาด ทั้งตลาด ออนไลน์ และ Onsite ประกอบกับพืชสมุนไพร สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ได้หลากหลาย อาทิเช่น ยา อาหาร อาหารเสริม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สีย้อมและสิ่งทอ เป็นต้น ดังนั้นแล้ว ภายใต้กระบวนการพัฒนาด้านการตลาดโดยอาศัยกลไก การประชาสัมพันธ์ผ่านทูตพาณิชย์ ทั่วโลก และการจับคู่ทางการค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มสปา ย่อมเป็นอีกช่องทาง ที่สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ของจังหวัดศรีสะเกษ เข้าสู่ระดับสากล
กิตติศักดิ์ วิมลสุข ผู้แทนเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ : จังหวัดศรีสะเกษของเรา มีการส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายชนิด ภายใต้การดำเนินงานในรูปแบบบูรณาการ โดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ คัดเลือกสายพันธ์ และพัฒนาสายพันธ์พืช ที่มีคุณภาพสูง ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานแปลงปลูก Organic และ GAP ภายใต้บริบทของจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ มุ่งมั่นพัฒนาพืชสมุนไพรเพื่ออนาคต จำนวน 9 ชนิด ดังนี้ครับ มะขามป้อม ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ไพล หอมแดง กระเทียม ขิง ข่าและพริก ให้เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานราก ให้ประชนชาวจังหวัดศรีสะเกษอยู่ดีกินดี ด้วยสมุนไพรในชุมชน